ขาบสไตล์-ฟู้ดสไตลิสต์ระดับโลก
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=438916
หมายเหตุก่อนอ่าน...ฉันมีโอกาสไปสัมภาษณ์คุณขาบ สุทธิพงษ์ สุริยะ ถึงที่บ้าน(สุดแสนมีสไตล์) จึงเรียบเรียงมาให้อ่านกันให้จุใจ ได้ตัดตอนเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับหนังสือ ไปเขียนลงในจุดประกาย วรรณกรรม คอลัมน์เส้นทางนักเขียน ลงตีพิมพ์วันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม 2552...
สำหรับหลายคนที่สนใจเรื่องอาหารการกิน คงเริ่มคุ้นหน้าคุ้นตา สุทธิพงษ์ สุริยะ หรือคุณขาบ ฟู้ดสไตลิสต์ชั้นนำที่คร่ำหวอดในวงการศิลปะและอาหารโดดเด่นมามากกว่า 10 ปี เขาทำงานทั้งเป็นเบื้องหน้าและเบื้องหลังซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ปัจจุบันนอกจากบทบาทการเป็นฟู้ดสไตลิสต์แล้วยังดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ขาบสไตล์ จำกัด และบทบาทอื่นอีกมากมายที่ก่อเกิดมาจากรากเหง้าในความรักอาหารและศิลปะ จนสามารถนำเสนอเรื่องอาหารออกมาในรูปแบบพาณิชศิลป์ และเขายังเป็นนักเขียนสารคดีอาหารคนไทยคนแรกและเป็นเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ได้รับรางวัลในงานประกวดตำราอาหารดีเด่นระดับโลกจาก Gourmand World Cookbook Awards ประเทศสเปนถึงสองปีซ้อนติดต่อกันกับสี่รางวัลคุณภาพระดับโลก
ขาบ สุทธิพงษ์ สุริยะ ฟู้ดสไตลิสต์ผู้มากประสบการณ์จะพาเราไปค้นพบนิยามในแบบของเขา ที่เปี่ยมไปด้วยรสนิยมและความทันสมัยระดับมาตรฐานสากล เพื่อยกระดับให้ธุรกิจอาหารไทยทั้งระบบก้าวไกลสู่สากลอย่างมีแบบแผนที่ชัดเจน
เรื่อง นงค์ลักษณ์ เหล่าวอ
ภาพ ขาบสตูดิโอ
ทำไมถึงเลือกที่จะมาเป็นฟู้ดสไตลิสต์
ก็เริ่มจากมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ โดยธุรกิจของครอบครัวทำร้านอาหารอินโดจีน ไทย ลาว เวียดนาม ผมก็จะคุ้นเคยกับวัตถุดิบ พืชพันธุ์ อาหาร ฤดูกาลที่มันอยู่กับเรื่องของการครัว เข้าครัว ไปตลาด จึงกลายเป็นเรื่องธรรมชาติของชีวิตประจำวัน และเนื่องจากที่บ้านเป็นร้านต่างจังหวัด (จังหวัดหนองคาย) ทุกคนต้องช่วยกัน หลักๆ คือผมเข้าครัวได้ ผมชอบทำอาหารมาก สิ่งเหล่านี้ซึมซับมาจากแม่ไม่ใช่เพราะที่บ้านทำธุรกิจร้านอาหาร การเป็นลูกคนเล็กต้องช่วยแม่ปรุงอาหาร เพราะพี่ๆ มาเรียนที่อื่นกัน พอปรุงเสร็จก็ชิมช่วยกัน ผมจึงเรียนรู้ลิ้นจากคนใกล้ตัว ตอนนั้นคิดไหมว่าความรักในการเข้าครัวจะทำให้กลายมาเป็นฟู้ดสไตลิสท์ ตอนนั้นคิดว่าเป็นเรื่องการดำรงชีพ ยังไม่มองว่าเป็นเรื่องศิลปะ และผมมองว่าการกินอยู่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทำให้ผมได้เรียนรู้ที่จะไปจ่ายตลาดสดตอนเช้า ต้องเรียนรู้ว่าเค้าคัดหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพดีอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องกระบวนการคิดทั้งหมดเลย การไปบ่อยๆ ได้เห็นนู่นเห็นนี่ก็จะเกิดการเปรียบเทียบ แม่ค้าจะมีความหลากหลายเปรียบเสมือนครูในภาคสนามของผมทำให้ได้เรียนรู้ที่จะเข้าถึงว่าวัตถุดิบชนิดไหนควรจะเลือกหรือไม่เลือก มันเป็นบทเรียนเป็นเรื่องของการซึมซับจากการที่ตามแม่ไปตลาด และการที่พ่อทำธุรกิจรับซื้อขายพืชไร่การเกษตร บางทีผมก็ไปกับพ่อเวลาที่พ่อไปรับซื้อของชาวไร่ชาวนา ให้ได้เรียนรู้วัตถุดิบว่าการซื้อขายทำกันอย่างไร เลือกสรรวัตถุดิบที่ดีเกรดเอ บี ซี หรือไม่ดีก็จะรู้ วัตถุดิบบางอย่างก่อนมาเป็นอาหารต้องเป็นวัตถุดิบมาก่อน นั่นแสดงว่าผมเข้าใจเรื่องของการคัดสรรและธรรมชาติฤดูกาลของวัตถุดิบด้วย ทำให้รู้ว่าในช่วงนี้จะมีอะไรหรือไม่มีอะไร วัตถุดิบบางอย่างก็นำกลับมาเป็นของใช้ในครัว แล้วก็มาเป็นอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องของความสัมพันธ์แบบไป-กลับ จากความคุ้นเคยกับชีวิตที่บ้าน แล้วมารู้สึกว่าอยากทำเรื่องอาหารในรูปแบบธุรกิจได้อย่างไร เมื่อก่อนไม่เคยมองว่าเป็นธุรกิจได้ เพราะมันเป็นธุรกิจของครอบครัวอยู่แล้ว และไม่คิดว่าจะเอามาทำเป็นพาณิชย์ศิลป์ได้ รู้อย่างเดียวว่าผมชอบศิลปะมาก คือรู้ด้วยกระบวนการ วิธีการ เวลาเข้าร้านหนังสือผมชอบไปดูหนังสือศิลปะ พวกรูปภาพสวยๆ แต่ไม่รู้ว่าเอามาทำมาหากินได้ ชอบดูนิตยสารฝรั่ง มีรูปสวยๆ ก็คิดว่าอยากจะมีแบบนั้นบ้าง แต่คิดว่าในเมืองไทยคงทำแบบนั้นไม่ได้ ความเป็นศิลปะคงไม่สามารถเอามาทำมาหากินได้ ความเป็นอาหารผมคิดว่าทำได้อย่างเดียวคือเป็นร้าน หรือว่าทำอาหารเป็นแพคเกจจิ้งขาย แต่ไม่คิดว่าจะสามารถกลายมาเป็นงานที่สร้างภาพลักษณ์ได้ และไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้ จนมาเจอผู้จุดประกายคือ ครูโต หม่อมหลวงจิราธร จิรประวัติ ผู้เปิดประตูสู่โลกกว้างให้ผมเลย แกบอกว่า บ้านเราไม่มีฟู้ดสไตลิสต์ แต่บ้านเราเป็นเมืองวัตถุดิบอาหารการกิน บ้านเราจึงมักจะมีปัญหาอยู่ว่า พอทำวัตถุดิบออกมาอย่างดี แต่ว่ามีวางขายอยู่เฉพาะในบ้านเรา แต่พอสินค้าเดินไปสู่สากล ภาพลักษณ์เรื่องของสไตล์ไม่ผ่าน นั่นก็แปลว่า ทำให้สินค้าไม่เดินทางสู่สากลได้ ผมเลยทะลวงว่า ถ้าจะทำธุรกิจอาหารไทยสู่มาตรฐานสากล มันมีเส้นทางเดินของธุรกิจได้อย่างแน่นอน
นิยามของคำว่า ฟู้ดสไตลิสต์นั้น จริงๆ แล้วกินความหมายขนาดไหน
คำว่า ฟู้ดสไตลิสท์ แท้จริงแล้วเป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องของธรรมชาติ เพราะในเรื่องของศิลปะมันเป็นเรื่องที่มีอยู่กันทุกคน เพียงแต่ว่าคนอาจจะหลงลืมไป บางคนชอบทำผม ก็ต้องทำผมให้สวย แต่บางคนชอบเสื้อผ้าก็แฟชั่นดีไซเนอร์ให้สวย แต่สำหรับอาหารเป็นเรื่องของศิลปะเหมือนกันนะ เพียงแต่ว่าเราอาจจะมองข้ามเพราะว่าเป็นเรื่องของกิน เราก็เลยบอกว่า ทำไมเราต้องไปแต่งตัวให้มันสวย จริงๆ แล้ว ในเรื่องของธุรกิจอาหารมีตัวแปรอยู่สองตัวคือ เหตุผลและอารมณ์ ซึ่งเป็นธรรมชาติของธุรกิจอยู่แล้ว เหตุผลคือความเป็นศาสตร์ เวลาทำอาหารคุณต้องเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพดี และคุณต้องใช้วัตถุดิบที่มีคุณค่าทางสารอาหารด้วย แล้วคุณต้องคำนึงถึงคนกินว่าได้อะไรจากการกินด้วย อันนี้เป็นเรื่องของศาสตร์ ในเรื่องของศิลป์ อาหารจะทำให้คนอยากกินก็ต้องทำให้มันสวย สวยแปลว่ายังไง ก็คือฤดูกาลเอย สีสันของวัตถุดิบแต่ละอย่าง รูปทรงของวัตถุดิบคือความสวยงามของธรรมชาติที่สร้างมา แต่ว่าเราอาจจะคิดมองไม่ถึงหรือมองไม่ออก แต่ว่ามันคือความสวยทั้งนั้น เพราะว่าทั้งคนและวัตถุดิบต่างก็มีรูปทรงด้วยกันทั้งนั้น แต่ในกระบวนการคิดศิลปะในการปรุงอาหารเราจะต้องมีกฎอยู่ข้อหนึ่งคือ ความอร่อยต้องมาก่อนและอาหารนั้นจะต้องอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติของการกิน เช่น อาหารร้อนก็ต้องกินแบบร้อน อาหารเย็นก็ต้องกินแบบเย็น ธรรมชาติของอาหารเป็นอย่างไรก็ต้องกินแบบนั้น กระบวนการคิดของผมก็คือ จะหยิบยกอะไรมาใส่กับอะไร ต้องอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติของอาหาร โดยใช้การเรียนรู้คือว่า นำวัตถุดิบส่วนประกอบทั้งหมดที่จะทำเมนูนั้นมาวางบนโต๊ะ แล้วจะดูภาพรวมจากนั้นค่อย มาคัดสรรว่าสีอะไรคู่กับสีอะไร แล้วหั่นอย่างไรสวยและควรเลือกวัตถุดิบอย่างไร ส่วนภาชนะก็จะเป็นสิ่งที่มารองรับให้ของที่ทำสวยขึ้นอีก สิ่งเหล่านี้คือความต่อเนื่องของชิ้นงาน อย่าลืมว่าศิลปะเป็นเรื่องที่อยู่ในตัวของทุกคนอยู่แล้ว แต่เรามองข้ามไปว่ามันคืออาหารที่จะทำให้เรารู้สึกอิ่มท้อง แต่ความจริงการอิ่มท้องคือการทำให้ชีวิตมีคุณภาพควบคู่กันไปด้วย สังเกตง่ายๆ คือ เทศกาลอาหารหรืออะไรก็ตาม ถ้าคนไทยลุกขึ้นมาทำงานคนไทยก็ทำให้มันสวยวิจิตรพิศดารมาก ถามว่าสัมผัสถึงไหม ผมว่าอารมณ์เข้าถึงยาก เพราะว่ามันเป็นความสวยที่เกินความเป็นจริง ซึ่งในชีวิตประจำวันแทบจะไม่ค่อยได้สัมผัส แต่ถ้าเราทำอาหารออกมาให้คุ้นเคยกับชีวิตประจำวัน ไม่ต้องสวยมาก แต่ว่าการสัมผัสเข้าถึงรับรู้ได้ นั่นแปลว่า ชีวิตเราจะค่อยๆ ซึมธรรมชาติของความสวยงามเข้าไป สุดท้ายเราจะตกผลึกเรื่องความคิดว่า เราจะได้ความสวยด้วยธรรมชาติ นั่นก็แปลว่า ถ้าเราทำอาหารออกมาสวยมากจะไม่กล้ากิน แต่ถ้าเราทำอาหารออกมาแล้วไม่ไปพลิกแพลงจากธรรมชาติของวัตถุดิบ เราจะเข้าใจและเราก็จะแปลงโจทย์ได้ง่ายขึ้น หมายความว่า ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามเราต้องเอารากเหง้ามาเป็นกระบวนการคิดเสมอในกระบวนการทำงาน ฉะนั้นงานของผมจะเป็นคอนเซปท์ที่เน้น ความเรียบง่ายมาก แต่ว่าดูแล้วนิ่ง สวยนาน เป็นความสวยแบบมีชีวิตชีวา เรื่องของอาหารเป็นเรื่องง่ายที่สุด เพราะว่าเราต้องสัมผัสอาหารวันละสามมื้อ มันเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุดแล้ว
วิธีการไหนที่จะส่งสารให้คนรู้สึกและสัมผัสได้ว่าอาหารเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์
หลักการง่ายๆ คืออย่าไปใช้กระบวนการคิดที่ซับซ้อนหรือว่ามากเกินไป คือมองอาหารว่าเป็นเรื่องของง่ายๆ ยกตัวอย่างคือ พยายามเข้าถึงธรรมชาติของอาหาร อย่าให้อาหารผ่านกระบวนการแปร กระบวนการปรุงที่มีขั้นตอนยุ่งยาก พยายามกินอาหารที่เป็นวัตถุดิบให้ได้มากที่สุด คือไม่ผ่านกระบวนการปรุงมาก จะทำให้ได้เรื่องของสุขภาพกลับคืนมา อาหารที่ไม่ผ่านการปรุงมากความสวยก็จะคงอยู่ ที่สำคัญคุณค่าของสารอาหารในวัตถุดิบก็จะไม่สูญเสียด้วย
หลักสำคัญที่เป็นกฎของฟู้ดสไตลิสต์มีอะไรบ้าง
ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทไหน ถ้าใช้วิธีคิดของฟู้ดสไตลิสต์คือให้เข้าถึงธรรมชาติ แล้วสิ่งเหล่านี้จะกลับคืนมาหาเราโดยคำตอบของมันเอง ฟู้ดสไตลิสต์มีวิธีคิดคือกินอย่างง่ายๆ กินอย่างที่ธรรมชาติเป็น อาหารต่างจากงานศิลปะอย่างอื่นตรงที่อาหารเราต้องกินเข้าไป ดังนั้นกระบวนการแรกที่ต้องคำนึงถึงคือรสชาติต้องอร่อย ต้องผ่าน ถัดมาคือโภชนาการต้องได้ และสุดท้ายคือเรื่องความสะอาด หลักสุขอนามัยต้องมี อันนี้เป็นกฎตายตัวของฟู้ดสไตลิสต์ที่จะต้องคำนึกถึงตลอด มีฟู้ดสไตลิสต์จำนวนมากลืมกฎข้อนี้ แสดงว่าเค้าไม่ได้เติบโตมาจากสายของคนทำอาหาร เขาเติบโตมาจากสายงานคนทำศิลปะ ซึ่งวิธีคิดจะผิดกัน แต่ถ้าวันหนึ่งที่ฟู้ดสไตลิสต์จะต้องเข้าไปสู่วงการธุรกิจอาหารนานาชาติหรือระดับโลกแล้ว คนที่มาจากสายอาหารจะตอบโจทย์ธุรกิจหรือมาตรฐานสากลได้ดีที่สุด เพราะว่าธรรมชาติของอาหารก็ต้องนำเสนอด้วยวิธีทางธรรมชาติ เราจะไปปรับให้เขาเป็นอย่างอื่นไม่ได้ อันนี้คือข้อเท็จจริง
ประสบการณ์ในบทบาทของฟู้ดสไตลิสต์ระดับนานาชาติครั้งแรกคืองานอะไร
ผมมีประสบการณ์ด้านนี้ค่อนข้างเยอะและโชคดีที่ได้มีโอกาสเรียนรู้งานในส่วนของทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง งานทั้ง2 ส่วนทำให้ผมได้มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องซึ่งงานที่ทำมีทั้งในประเทศและต่างประเทศ งานแรกในระดับนานาชาติคือการนำภาพถ่ายวัตถุดิบอาหาร ซึ่งเป็นเครื่องเทศและสมุนไพรไทยไปจัดแสดงในงานอนูก้า (ANUGA) ประเทศเยอรมนี ปกติการจัดนิทรรศการอาหารไทย ส่วนมากจะนำเสนอในเรื่องของรูปภาพอาหารที่ปรุงสำเร็จแล้วอยู่ในจาน ปีนั้นผมนำเสนอด้วยความสวยงามของวัตถุดิบที่จะนำไปปรุงอาหารเท่านั้น ทั้งตะไคร้ ใบมะกรูด สะระแหน่ โหระพา พริก จัดวางในภาชนะสวยๆ นำไปขยายเป็นรูปภาพใหญ่ๆ เพราะว่าเรากำลังจะตีโจทย์ว่าเมืองไทยเป็นเมืองที่มีเครื่องเทศสมุนไพรที่ดีที่สุดของโลก อาหารไทยทำมาจากเครื่องเทศและสมุนไพรที่ดี นี่คือหัวใจหลักของอาหารไทย ก็เลยนำเสนอเรื่องความสวยงามของวัตถุดิบให้ดูดีมากไปด้วยสไตล์ งานนี้กรมส่งเสริมการส่งออกในฐานะตัวแทนของประเทศไทยได้คัดเลือกเอางานของผมไปจัดแสดงในบู้ธของกรมส่งเสริมการส่งออก
ผลตอบรับในงานอนูก้า (ANUGA) ครั้งนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
ได้รับการตอบรับดีพอสมควร สิ่งที่เขาได้รับรู้จากกระบวนการศิลปะ คือทำให้เห็นความแตกต่างของการนำเสนอสิ่งที่แปลกใหม่ เพราะว่ายังไม่เคยมีเลยที่จะมีการนำเอาภาพของวัตถุดิบขึ้นจัดแสดง ทำให้วงการอาหารเริ่มที่จะตระหนักและกลับมาให้ความสำคัญเรื่องของรูปแบบกระบวนการคิดวางแผนงาน ก็แปลว่า ถ้าคุณจะทำให้อาหารอร่อยมีคุณภาพดี เรื่องวัตถุดิบเป็นหัวใจหลักเลย มันเป็นการฉุกความคิดขึ้นมา คิดถึงรากเหง้าต้นกำเนิดของทุกสิ่งอย่างนั่นเอง แล้วอีกอย่างหนึ่งคือเมืองไทยยังเป็นเมืองที่ส่งออกเครื่องเทศสมุนไพรอันดับต้นๆ ของโลก แต่เราไม่ได้มาพูดถึงบทบาทเรื่องนี้ เราพูดถึงบทบาทเดียวคือส่งพ่อครัวแม่ครัวไป แล้วก็คนไทยไปเปิดร้านอาหาร แต่ว่านั่นเป็นปลายแถวปลายเหตุ แต่ต้นเหตุคือว่าคนไทยที่ไปทำร้านอาหารเขาต้องนำเข้าเครื่องเทศสมุนไพรไทยทั้งหมดเลยไปจากเมืองไทย ซึ่งเป็นมูลค่ามหาศาล เราลืมเรื่องนี้กันไปได้อย่างไร การจัดแสดงภาพถ่ายสมุนไพรไทยอย่างมีสไตล์ในครั้งนั้นของผม ได้จุดประกายให้คนเห็นคุณค่าความสำคัญของเครื่องเทศสมุนไพรว่าเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ และได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสมุนไพรว่าของที่นำเข้าจากเมืองไทยมีคุณภาพดีที่สุด เพื่อส่งเสริมเกษตรกรไทยนั่นเอง อีกอย่างเราต้องนำเสนอให้เขารู้ว่าเข้าถึงได้ง่ายแล้วก็สวยด้วยธรรมชาติและตัวตนของวัตถุดิบนั่นเอง
นอกเหนือจากการจัดแสดงภาพถ่าย แล้วได้ให้ข้อมูลสรรพคุณของสมุนไพรอย่างไรบ้าง หลักๆ คือเขาจะขยายภาพขึ้นรูปใหญ่ๆ แล้วบอกชื่อสมุนไพรและเครื่องเทศประกอบรูปภาพ แต่โดยธรรมชาติคนไทยก็จะคุ้นเคย แต่สำหรับชาวต่างชาติจะรู้ว่านี่เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้อาหารไทยมีความอร่อยครบทุกรสชาติ เผ็ด เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม มีเอกสารแจกเพื่ออธิบายประกอบ ทำให้เป็นการตอบโจทย์ได้อย่างครบถ้วน
หลังจากอยู่ในวงการอาหารมานาน ทำไมถึงได้ตัดสินใจเปิด ขาบสตูดิโอ
ผมเปิดขาบสตูดิโอขึ้นมาก็เพื่อสร้างมาตรฐานสากลให้กับวงการอาหารไทย ผมได้ทำงานให้กับโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ออกแบบบรรจุภัณฑ์กล้วยอบพลังงานแสงอาทิตย์ที่อำเภอ สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เพื่อช่วยยกระดับเรื่องของบรรจุภัณฑ์ให้กับชาวบ้าน ผมมองว่าการที่เราได้ช่วยชาวบ้านมีส่วนช่วยให้สังคมเข้มแข็งขึ้นได้ ซึ่งธุรกิจของผมให้บริการสร้างภาพลักษณ์ให้กับวงการอาหารและถือว่าเป็นเจ้าแรกในเมืองไทยที่ลุกขึ้นมาเปิดบริษัททำเป็นเรื่องเป็นราว ทีนี่พอผมเริ่มจากการทำให้อาหารสวย เสร็จแล้วมันไม่ได้แปลว่าความสวยจบอยู่ที่อาหารในจานเท่านั้น สำหรับธุรกิจร้านอาหาร แต่ถ้าเป็นบริษัทผลิตวัตถุดิบอาหารมันไม่ได้จบอยู่ที่จาน มันจบที่กระบวนการออกแบบบรรจุภัณฑ์หุ้มห่อ นั่นก็แปลว่า มันต้องผ่านกระบวนการมองผ่านเลนส์ด้วยช่างภาพ เพื่อให้ได้รูปสวย จากนั้นกราฟฟิกดีไซเนอร์ต้องเอาชิ้นงานไปออกแบบเป็นบรรจุภัณฑ์ นั่นหมายความว่า ลักษณะงานขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของลูกค้าว่าต้องการให้ใส่ความสวยงามแบบไหน หรือว่าถ้าบริษัทของลูกค้าขายวัตถุดิบ เขาก็ต้องการนำเสนอให้วัตถุดิบของเขาโก้ มีสไตล์ นั่นแสดงว่าเค้าต้องการให้ผมไปคุกกิ้งโชว์ นำวัตถุดิบมาปรุงอาหารให้อร่อย ผมก็จะเน้นไลฟ์สไตล์ของการปรุงอาหารให้เหมือนอยู่ที่บ้าน ถ้าเป็นหนังสือตำราอาหาร แสดงว่าลูกค้าต้องการให้เราทำครบทั้งระบบทั้งในเรื่องของกระบวนการถ่ายภาพ งานออกแบบ แล้วก็กระบวนการเล่าเรื่องด้วยการเขียนหนังสือ ก็แปลว่าผมต้องใส่เรื่องราวลงไป ในกระบวนการทำงาน ถ้าฟู้ดสไตลิสต์ที่มีวิธีการมองโจทย์รอบด้าน จะมองออกเลยว่า งานชิ้นนี้เขาจะมองเห็นภาพทั้งระบบแล้วค่อยเดินทางไปหาเป้าหมายอย่างง่ายดาย แต่งานที่เดินทางไปเน้นรูปแบบนำเสนอเรื่องของอารมณ์ จะไม่ใช่ลักษณะงานที่ฝืนธรรมชาติในเชิงของการโฆษณาเกินไป เพราะผมเชื่อว่าความรู้สึกและอารมณ์เป็นเรื่องใหญ่ สินค้าที่จะก้าวไปสู่ระดับสุดยอด เขาขายอารมณ์กันทั้งนั้น ถ้าดูบรรจุภัณฑ์สินค้าแทบทุกตัว อาหารทุกอย่างขายอารมณ์ ดังนั้นปัญหาหลักของบ้านเราคือไม่ได้นำฟู้ดสไตลิสต์ที่มีประสบการณ์ด้านนั้นมาเป็นที่ปรึกษา แต่กลับไปใช้ช่องทางอื่น ไม่ว่าจะเป็นนักโฆษณาหรือว่านำฟู้ดสไตลิสต์ที่ไม่มีทักษะเรื่องอาหารมาแก้ปัญหา ซึ่งตอบโจทย์ผิดเลย วิธีแก้ปัญหานี้ในบ้านเราทำได้ไม่ยาก กระบวนการคือรัฐบาลต้องมองและตระหนักถึงปัญหาหลักในจุดนี้ให้ได้ก่อน ถ้าเห็นจุดนี้ปั๊บมันจะง่าย แล้วเราค่อยมาหาทางออกร่วมงาน บ่อยครั้งเวลาที่ผมไปเป็นอาจารย์พิเศษ ผมจะให้วิธีคิดที่เป็นมาตรฐานสากล ว่าทั่วโลกเขาทำแบบนั้น ถ้าคุณปรับสินค้าหรือธุรกิจของคุณมาเป็นแบบนี้ สไตล์จะมาเลย แล้วคุณจะถูกตรวจสอบด้วยวิธีคิดแบบสากล เพราะคนรอบตัวเรา เขารู้แล้วเข้าใจดีว่า มาตรฐานสากลคืออะไร แต่ว่าไม่มีใครหยิบยกประเด็นการสร้างสไตล์สินค้าอาหารออกมาทำเป็นเรื่องเป็นราวเท่านั้นเอง
มีความเห็นอย่างไรต่อการศึกษาด้านอาหารและธุรกิจวงการอาหารบ้านเรา
บ้านเรามีโรงเรียนสอนทำอาหารเยอะ มีมหาวิทยาลัยสอนระดับปริญญาตรี และมีสถาบันสอนการครัวด้วย แต่ปัญหาคือบุคคลที่จบสายเหล่านี้เกือบทั้งหมดไม่เคยได้เดินไปถึงฝั่ง ทำไมไม่ฉุกคิดกลับมาพัฒนาบุคลากรคนกลุ่มนี้ให้เขามีความโดดเด่นในสายงานของเขา แล้วเขาจะมีความภาคภูมิใจในอาชีพ ไม่ใช่ว่าเรียนจบมาแล้ว แยกสลายไปเป็นอะไรก็ได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เราต้องย้อนถามกลับไปว่า เกิดอะไรขึ้นแล้ว ทำไมถึงกลายเป็นแบบนี้ โรงเรียนหรือสถาบันควรจะเอาบุคลากรที่มีความแตกฉานเหล่านี้ไปเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ ไปเปิดประเด็นและจุดประกายให้กับเขาว่า ถ้าคุณเดินทางมาในรูปแบบนั้น แล้วคุณจะไปเป็นแบบนี้แน่นอน เพื่อทำให้เชฟไทยมีความภาคภูมิใจในวิชาชีพ ตอนนี้เชฟไทยทำงานเพราะว่าเป็นหน้าที่ ขาดการส่งเสริมและถูกวงการธุรกิจอาหารครอบงำเกินไป เชฟควรจะต้องมีความเป็นศิลปินมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และวงการอาหารจะต้องช่วยกันสนับสนุนเชฟไม่ใช่ครอบงำวิธีคิดของเชฟ ทำให้เชฟไทยขาดความภาคภูมิใจแตกต่างจากเชฟตะวันตก และบ้านเราต้องยอมรับว่ามีเรื่องของพรรคพวก อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ บ้านเราไม่ค่อยเปิดใจกว้าง ถ้าเอาคนที่มีวิธีคิดที่ถูกต้องมาเป็นมาตรฐานและให้เขาได้แสดงศักยภาพเต็มที่ มันจะขับเคลื่อนไปทั้งระบบ บ้านเราถ้าจะเอาคนกลุ่มนี้ กลุ่มนั้นจะต้องไม่มา แต่กลุ่มนี้ก็ไม่ได้แปลว่าเป็นกลุ่มที่ดีที่สุด ทำให้งานไม่เกิด ประสิทธภาพ
ด้วยความที่คุณขาบคลุกคลีกับอาหารอินโดจีน อย่างไทย ลาว และเวียดนาม อยากทราบว่าหัวใจหลักของอาหารทั้งสามชาติคืออะไรต้องบอกว่าอาหารไทยหัวใจหลักคือความหลากหลายของรสชาติ เปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด มัน ห้ารสนี่คือหัวใจหลักของอาหารไทย ความหลากหลายทำให้อาหารไทยสามารถทำได้สารพัดรสชาติและสารพัดวัตถุดิบ นี่คือความสมบูรณ์แบบของเมืองไทยที่ชาติอื่นไม่มี แต่ว่ามันเป็นความยากมาก เพราะว่าอะไรที่มีความเยอะ หนึ่งเยอะรสชาติ สองเยอะวัตถุดิบ ถ้าคนที่ไม่มีความเป็นศิลปะ เขาจะเอาความเยอะมาทำให้เป็นความรกได้ง่ายที่สุด เพราะว่าเขาไม่มีทักษะหรือความเป็นฟู้ดสไตลิสต์ นี่คือสิ่งที่ผมกลัวและอยากจะเข้ามาหยุดความรกให้เป็นความง่าย แต่ว่ารสชาติยังอร่อยคงเดิม
อาหารลาว หัวใจหลักคือชีวิตความเป็นอยู่เน้นพึ่งพาอยู่กับธรรมชาติ อาหารประจำวันจึงเป็นอาหารที่อยู่รอบตัวสามารถนำมาปรุงได้ทันที อาหารไม่ค่อยผ่านกระบวนการปรุงที่ซับซ้อนเท่าไหร่ เป็นรอว์ฟู้ด (raw food) และเน้นสุขภาพเยอะ และจะไม่ค่อยมีขั้นตอนมากเท่ากับอาหารไทย เพราะว่าวิถีชีวิตของเค้าเรียบง่าย นี่คือกระบวนการคิดของเขา คือใส่อะไร รสชาติออกมายังไงก็จบอยู่ที่จุดนั้น เช่นส้มตำก็จะมีส้มตำปลาร้าอย่างเดียว จะไม่มีส้มตำใส่ปูม้า ส้มตำใส่หอย ส้มตำซีฟู้ด อาหารลาวขั้นตอนเดียวแล้วก็จบ อาหารเวียดนาม หัวใจของอาหารเวียดนามคือสีเขียวของผัก การกินผักเป็นเรื่องสำคัญ อาหารทุกจานจะมีผักขึ้นโต๊ะเป็นเรื่องหลัก อาหารไทยผักจะขึ้นโต๊ะก็ต่อเมื่อ ต้องมีเครื่องประกอบอาทิ น้ำพริกหรือขนมจีน แต่อาหารเวียดนามผักจะขึ้นโต๊ะเป็นเรื่องธรรมชาติ นั่นคือการตอบโจทย์ด้วยสามัญสำนึกของวิธีคิดเลย คือกินผักแทนกินยานั่นเอง
นอกจากการเป็นฟู้ดสไตลิสต์แล้ว คุณขาบยังเป็นนักเขียนด้วย อะไรที่เป็นแรงจูงใจให้อยากทำงานเขียนการเขียนคงเริ่มมาจากการเป็นคนรักการอ่านหนังสือก่อน ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือ และพี่สาวคนหนึ่งของผมซึ่งเรียนวิชาชีพครูทางด้านอาหารและโภชนาการสะสมหนังสือพวก สตรีสาร ซึ่งเขาจะอ่านแล้วก็นำมาทิ้งไว้ที่บ้าน ผมจึงได้อ่านและนี่เป็นจุดเริ่มต้น พอไปโรงเรียนผมก็ชอบเข้าห้องสมุด ตอนอยู่ที่หนองคายจะมีห้องสมุดประชาชนประจำจังหวัด ผมชอบเข้าห้องสมุดเสาร์-อาทิตย์ ที่โรงเรียนประจำจังหวัดก็มีห้องสมุด ผมจึงไปสมัครเป็นบรรณารักษ์ ก็จะได้หนังสือมาอ่านเล่นที่บ้านมากขึ้น โดยธรรมชาติผมชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก คืออ่านเยอะมาก ชอบอ่านหนังสือแนวสารคดีมากกว่านวนิยาย เพราะรู้สึกว่าสารคดีเป็นเรื่องที่จับต้องได้ สัมผัสแล้วเห็นจริง และเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ชอบหนังสือแนวให้ความรู้ซึ่งเป็นของจริงมากกว่า เวลาเขียนหนังสือก็จะติดนิสัยเขียนแนวสารคดีเพราะได้บ่มเพาะตัวเองในเรื่องการคิดที่มีการกลั่นกรองเป็นระบบอยู่ภายใน ที่สำคัญชอบภาษาของนักเขียนแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน
การที่ผมเริ่มมาเขียนและทำหนังสือด้วยก็เพราะว่า พอทำอาหารออกมาแล้วก็อยากเล่าเรื่องผ่านตัวหนังสือให้ได้อารมณ์อย่างที่อยากทำ เลยเป็นการจุดประกายว่าอยากทำหนังสือตำราอาหาร พอเริ่มทำหนังสือก็ทำออกมาตามคอนเซ็ป ผมมีวิธีคิดคือ หนังสือทุกเล่มที่ผมออกมา จะต้องเป็นหนังสือที่ไม่ใช่มีแค่รูปภาพกับสูตรอาหารเท่านั้น วิธีคิดของผมคือจะต้องเป็นสารคดี การทำหนังสือเป็นต้นทุนทางสังคม ผมจึงอยากทำหนังสือที่มีคุณค่าทิ้งไว้ให้กับสังคม เพราะว่าหนังสือมันคืองานวรรณกรรมชิ้นเอก หนังสืออาหารเป็นเรื่องของข้อเท็จจริง เป็นเรื่องของวัฒนธรรม เพราะมันเป็นเรื่องของการตกทอดทางมรดกของชาติพันธุ์มนุษย์ เวลาผมทำชิ้นงานอะไรออกมา ผมมีความคิดว่า หนึ่งจะต้องตกเป็นสมบัติของแผ่นดิน สองจะต้องสร้างองค์ความรู้ให้คนเอาไปใช้งานต่อได้ และขณะเดียวกันมันก็เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ที่ผมเองสนใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้วด้วย ผมตกหลุมรักศิลปะกับอาหารมาก อยากจะเอาสองสิ่งนี้มาช่วยประเทศชาติ นั่นคือสิ่งที่ผมอยากทำ ผมผ่านการเคยทำงานกับสิ่งตีพิมพ์มามากแล้ว ผมอยากทำเรื่องสิ่งพิมพ์หนังสือในแบบที่ไม่ใช่แค่เป็นหนังสือตำราอาหารแบบวิชาการ แต่ผมต้องการทำหนังสือที่สวยงามและสาระก็ยังไม่หาย ผมเลยอยากจะเอาวิธีคิดและระบบที่มี มาทำประโยชน์ให้กับวงการธุรกิจอาหารประเภทต่าง ๆ ให้เกิดความสวยด้วยมาตรฐานสากล ผมอยากจะให้งานได้รับการยอมรับ เพราะเวลาทำเสร็จแล้วจะมีองค์กรหนึ่งคอยตรวจสอบเรา ถ้าคุณทำงานแล้วมีองค์กรตรวจสอบแสดงว่ากำลังมีคนดูคุณอยู่นะ
เป็นมาอย่างไรถึงส่งหนังสือสารคดีอาหารที่เขียนไปประกวดระดับโลกได้
ผมไม่รู้ว่ามีรางวัล Gourmand World Cookbook Awards เกิดขึ้นบนโลก ปีแรกที่ผมทำหนังสือ Food and Travel Laos ออกไป ตีพิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษแยกเล่ม มีฝรั่งไปเที่ยวหลวงพระบางแล้วเห็นหนังสือ เขาอีเมล์มาบอกผมว่า หนังสือคุณดีมากเลย ทำไมคุณไม่ส่งไปประกวดที่นี่ พร้อมลิ้งค์เวปไซด์มาให้พร้อม ผมก็เข้าไปดูในเว็บไซต์ขององค์กรนี้ เข้าไปดูเฉยๆ ไม่ได้สนใจอะไร เพราะผมคิดว่ามันก็คงไม่ได้มั้ง ปีที่สองฝรั่งคนนี้ก็อีเมล์มาที่ผมอีก และขอให้ผมส่งหนังสือไปประกวด ผมเลยส่งไปและกลายเป็นคนไทยคนแรกเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ได้สี่รางวัลระดับโลกติดต่อกันสองปีซ้อน (ปี 2007 และปี 2008) รางวัลนี้สร้างขึ้นมาเพื่อยกมาตรฐานให้กับตำราอาหารดีเด่นระดับโลกปีละครั้ง สำหรับปีแรกที่ส่งไปคือปี 2007 หนังสือ Food and Travel: Laos ติดอันดับหนังสือดีเด่น 1 ใน 26 เล่มของโลก ประเภท Best Foreign Cookery Book พอปี 2008 ผมก็ส่งไปสองเล่มคือ Good Ideas: Kitchen ได้รับรางวัลชนะเลิศของโลก Best in the World ประเภท Special Awards และอีกเล่ม Prantalay Cookbook ก็ได้รับรางวัลดีเด่นควบ 2 ตำแหน่งพร้อมกันคือ Best Fish and Seafood Book และ อีกรางวัลคือ Best Corporate Cookbook องค์กรในประเทศสเปนเป็นผู้ก่อตั้งรางวัลนี้ขึ้นมา ปีหนึ่งมีตำราอาหารจากทั่วโลกส่งเข้าประกวดมากกว่าหกพันเล่ม มีกรรมการคัดสรรว่าแต่ละเล่มจัดอยู่ในประเภทไหนในทั้งหมด 39 ประเภท ผมส่งไปโดยไม่รู้ว่าประเภทไหน รู้แต่ว่าให้ส่งก็ส่งไป และปีนี้ผมตั้งใจจะเดินทางไปรับรางวัลที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเจ้าภาพพิธีมอบรางวัลให้กับเจ้าของผลงานหนังสืออาหารที่ได้รับรางวัลเมื่อปี 2008 รางวัลนี้จะมีการเวียนประเทศที่จะเป็นเจ้าภาพจัดพิธีมอบรางวัล และหนังสือที่ผมเขียนได้รับรางวัลเกียรติยศ Hall of Frame ประเภท Special Awards ก็ต้องขึ้นไปรับรางวัลกับประธานในงานนี้
อยากให้เล่าถึงการทำงานและเนื้อหาของหนังสือทั้งสามเล่มที่ได้รับรางวัล
Food and Travel : Laos หลักๆ คือนำเสนอสารคดีอาหารราชสำนักหลวงพระบาง ซึ่งเป็นหัวใจของหนังสือเล่มนี้ ผมได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือ ปื้มครัวกินลาว (คำว่า ปื้ม แปลว่า หนังสือ) ของ เผียสิงห์ - อดีตเคยเป็นห้องเครื่องให้กับเจ้ามหาชีวิตลาวองค์สุดท้ายของลาว หนังสือเล่มนี้เผียสิงห์ได้เล่าเรื่องของอาหารราชสำนักหลวงพระบางไว้มากมาย ซึ่งทางเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศลาว มองเห็นว่าเป็นสมบัติอันล้ำค่าของลาว เลยมีการบันทึกไว้ในช่วงที่เผียสิงห์ป่วยหนัก จากนั้นก็เสียชีวิตต่อมา หนังสือเล่มนี้ตอบโจทย์ความเป็นลาวได้ชัดเจนคือ นำเสนอเรื่องราวของพืชผักสมุนไพร การกินอยู่แบบพื้นบ้านง่ายๆ มีภาพประกอบแล้วก็เล่าเรื่องของอาหารราชสำนัก มีสูตรอาหารที่ทำจาก พืช ผัก ปลา เล่าเรื่องของปลาสมัยอดีต แล้วผมก็ได้วิธีคิดจากหนังสือเล่มนี้ มาต่อยอดเป็นหนังสือ Food and Travel: Laos ตอนที่ค้นคว้าทำให้ผมไปที่หลวงพระบางหลายครั้ง เพื่อไปสัมภาษณ์ลูกหลานของเผียสิงห์ เพื่อที่จะไปหารอยเชื่อมต่อจากของเผียสิงห์ และขณะเดียวกัน ผมก็ได้มีโอกาสเข้าพบเจ้าหญิงมะนีไล สว่าง สัมภาษณ์เจ้าหญิงว่า เจ้ามหาชีวิตองค์สุดท้ายและเจ้าหญิงในช่วงใช้ชีวิตในวังสมัยก่อน กินอยู่กันยังไง แล้วก็มีสัมภาษณ์หม่อมบัวซึ่งเมื่อก่อนเคยช่วยงานเผียสิงห์ ซึ่งในช่วงที่ผมได้ทำตำราอาหารเล่มนี้ ผมได้สัมภาษณ์บุคคลสำคัญและราชวงศ์ของหลวงพระบางประมาณ 10 ท่าน เพื่อที่จะตกผลึกทางความคิดว่าท้ายที่สุดแล้วอาหารราชสำนักคืออะไรนอกจากนี้ผมยังได้ไปสัมภาษณ์คนท้องถิ่น และคนเก่าแก่ที่เขายังมีความคุ้นเคยกับวิถีการกินแบบดั้งเดิม ผมอยากจะนำเสนออาหารที่คุ้นเคย ซึ่งมีสรรพคุณที่ดีมาก เพราะอาหารลาวเป็นอาหารที่มีประโยชน์สูงให้คุณค่าต่อร่างกายเน้นการ กินอยู่กับเรื่องวิถีชีวิตง่ายๆ ผมเขียนร่วมกับเอื้อยวันดารา อำไพพอน คนหลวงพระบางที่สอนทำอาหารแบบโฮมสไตล์ เวลาเขียนสารคดีอาหารท้องถิ่น ถ้าเรานำคนท้องถิ่นเข้ามาเป็นส่วนร่วมในเรื่องข้อมูล เท่ากับเราให้เกียรติเขา แม้กระทั่งในเรื่องของการเลือกใช้ตัวหนังสือของลาว ภาษาพูดของลาว ก็พยายามที่จะเอามาใช้ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เป็นตำราอาหารที่สมบูรณ์แบบที่สุดนั่นเอง จากคนทำครัวมาเป็นคนทำหนังสือ ลองพิจารณาเราจะมองเห็นภาพกว้างได้ชัดเจนที่สุด ที่สำคัญงานเขียนจะต้องให้เกียรติคนอ่านเสมอ หนังสือเล่มนี้ยังได้รับเกียรติเป็นอย่างยิ่งจาก ฯพณฯ เหียม พมมะจัน เอกอัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประจำประเทศไทย เขียนคำนิยมให้ ซึ่งเวลาที่ผมทำหนังสืออะไรก็อยากทิ้งสิ่งที่มีคุณค่าเหล่านี้เอาไว้เป็นสมบัติให้กับห้องสมุดด้วย เพราะผมรู้สึกว่าการทำหนังสือเป็นการให้ความรู้กับคน และหนังสือก็จะตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น เคยมีคนใช้หนังสือเล่มนี้อ้างอิงหลายคน อย่างนักศึกษาสาขาอาหารก็เคยโทรศัพท์มาขอสัมภาณษ์และนำไปอ้างอิงในการทำวิทยานิพนธ์ว่าด้วยเรื่องของอาหาร ส่วน Good Ideas: Kitchen เป็นเรื่องเคล็ดลับต่างๆ ในครัวที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้ว มีรูปภาพสวยๆ และเล่าเรื่องประกอบ เป็นไอเดียง่ายๆ ที่มากไปด้วยคุณประโยชน์ ผมอยากนำเรื่องเคล็ดลับก้นครัวมาเล่า โดยใช้ความเป็นภูมิปัญญาไทย แต่วิธีการนำเสนอมุมมองอยากให้เป็นมาตรฐานระดับสากล มันเลยเป็นภาพออกมาในรูปแบบใหม่ที่ไม่มีในบ้านเราและเมืองนอกเคล็ดลับแบบนี้ครัวฝรั่งเขาก็ไม่ค่อยมี เพราะธรรมชาติการกินแตกต่างกัน อันนี้คงเป็นส่วนที่ทำให้ผมได้รับรางวัลชนะเลิศระดับโลก ผมเชื่อว่าคงมีส่วนอยู่เหมือนกัน อีกเล่ม Prantalay Cookbook จะเล่าเรื่องความเป็นมาของอาหารทะเล ประโยชน์ การใช้งานและเก็บรักษา และไวน์แบบไหนเหมาะกับการกินคู่กับอาหารทะเล เป็นหนังสือประเภทธุรกิจอาหารทะเลเน้นภาพลักษณ์สวยและเป็นหนังสือที่ถือว่าทรงคุณค่าสามารถนำมาใช้อ้างอิงเพื่อการศึกษาได้ เคยมีเพื่อนที่เป็นคนเขียนตำราอาหารเช่นกันมาถามผมว่า เขาส่งไปร่วมประกวดได้ไหม ผมก็บอกว่าทุกคนส่งได้ แต่ว่าเรื่องเงื่อนไขการเข้าชิงรางวัล คุณต้องทำของคุณให้มีคุณค่าก่อน เพราะถ้างานของคุณมีคุณค่าคนจะเห็นคุณค่าในงานของคุณเช่นกัน ผมมองเรื่องของสารคดีอาหารถือเป็นเรื่องใหญ่ ฉะนั้นผลงานเขียนทุกเล่มจึงต้องทำงานอย่างหนักเพื่อให้เป็นสิ่งพิมพ์ที่เกิดข้อเท็จจริงได้นั่นเอง การที่ผมเปิดขาบสตูดิโอก็เป็นส่วนหนึ่งได้ใช้ชีวิตอยู่กับงานที่ชอบ ผมเขียน อ่าน ศึกษาและทำการบ้านเยอะ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดตกผลึกทางความคิด ต้นทุนทางสังคมทำให้คนคาดหวังกับเราเสมอ ฉะนั้นเมื่อทำอะไรออกไป เราจะต้องสร้างให้มาตรฐานมันดียิ่ง ๆ ขึ้นไป อย่างปี 2007 ผลงานติด 1 ใน 26 เล่มของโลก ปี 2008 ก็เป็น Best of the World เลย และปีต่อๆ ไปผมก็ต้องพยายามทำให้มันดีกว่าเดิมก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ก็ไม่ยากสำหรับผม เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ผมรัก เวลาเรารักอะไร เราก็จะทำสิ่งนั้นได้ดีกว่าและเต็มที่กับมันเสมอทุกครั้งที่ได้ลงมือทำ สำหรับนักเขียนสารคดีอาหารท่านใดสนใจอยากส่งผลงานเข้าร่วมในเวที Gourmand World Cookbook Awards สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่ www.cookbookfair.com ผลงานที่ส่งไปให้กรรมการพิจารณานั้น ส่งไปได้ทุกภาษาทั้งอังกฤษ ไทยและอื่นๆ
ทำไมถึงเลือกเขียนหนังสือสารคดีอาหารอินโดจีน
เพราะผมเกิดที่หนองคาย ย่อมรู้จักตัวตนได้ดีที่สุด และที่บ้านทำร้านอาหาร เลยเป็นเรื่องที่ผมคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก ตอนอยู่หนองคายผมเติบโตมากับชุมชนคนอพยพ ฉะนั้นเรื่องอาหารอินโดจีนจึงเป็นเรื่องใกล้ตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมอยากจะนำเสนอที่สุด ด้วยภาพลักษณ์หรือวิธีการนำเสนอให้ออกมารูปแบบเป็นยุโรปหรือตะวันตก ผมอยากยกมาตรฐานสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งเรื่องของกระบวนการปรุง วิธีเลือกใช้วัตถุดิบแต่รสชาติต้องอร่อยแบบเดิม ผมอยากให้คนรู้ว่าอาหารไทย เวียดนาม ลาว มีสรรพคุณที่ดีมาก แต่อาจมีปัญหาในเรื่องการนำเสนอ เพราะขาดทักษะเรื่องของศิลปะเชิงสากล ในบทบาทที่ผมเป็นฟู้ดสไตลิสท์ ผมก็อยากจะนำเสนอให้ภาพลักษณ์อาหารไทยทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหน้าตาอาหาร บรรจุภัณฑ์ สิ่งตีพิมพ์ การคุกกิ้งโชว์ หรืออะไรก็แล้วแต่ หรือแม้แต่การเป็น อาจารย์พิเศษ เป็นวิทยากรให้กับองค์กรเอกชน ผมก็พยายามนำเสนอในเรื่องของวิธีคิด การตกผลึกที่เป็นเชิงสากล เป็นเรื่องสำคัญเลยนะ ถ้าคุณได้วิธีคิดที่เป็นสากล อย่างอื่นก็ง่ายแล้วแต่ปัญหาตอนนี้คือ บ้านเราเป็นแบบครูพักลักจำ มันก็เลยกลายเป็นว่า เดินทางไปข้างหน้าได้แต่ว่าไม่สามารถย้อนกลับมาใช้เส้นทางเดิมได้ เพราะว่าคุณไม่รู้จักรากมัน อย่างผมเติบโตมาจากรากอยู่กับก้นครัวเลย นั่นก็แปลว่ารากผมแน่นมาก เพียงแต่ว่าผมจะหยิบอะไรมาใช้ นำเสนอให้โดดเด่นด้วยวิธีการเช่นไร
อยากเขียนสารคดีอาหารประเทศไหนอีกบ้างผมอยากทำหนังสืออาหารในเอเชียอาคเนย์ อย่างเขมรนี่ก็ชอบนะครับ เพราะมีหนังสือเล่มหนึ่ง The Royal Palace of Phnom Penh and Cambodian Royal Life เพื่อนชาวต่างชาติ Julio A. Jeldres ที่เป็นคนเขียนหนังสือเล่มนี้ให้หนังสือผมมาเป็นที่ระลึกแล้วผมรู้สึกว่าน่าสนใจมากทำให้อยากทำอาหารราชสำนักของประเทศนี้หากสำนักพิมพ์ไหนสนใจเรื่องนี้หรือตำราอาหารที่เน้นแนวไลฟ์สไตล์ ทันสมัยอย่างตำราอาหารของดอนน่า เฮย์และมาร์ธ่า สจ๊วต ถ้าหากมีไอเดียตรงกันก็สามารถที่จะร่วมแชร์ประสบการณ์กันได้ครับ ติดต่อมาได้เลย เวทีของผมเปิดใจกว้างเสมอ ผมว่าน่าจะมีอะไรที่ให้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลได้เยอะ
มีนักเขียนให้ความสนใจเขียนสารคดีอาหารเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เยอะไหม
บ้านเราก็มีแต่น้อยครับ บางคนชอบทำครัวแต่พอมาเขียนหนังสืออาหารกลับไม่ไปสู่สากล ซึ่งอาจจะขาดทักษะหลายๆ อย่าง ทำให้ตำราอาหารที่ออกมา ไม่สามารถยืนด้วยศักยภาพของเนื้อหาที่อัดแน่นและคุณภาพคับแก้ว ภาพที่นำเสนอก็ไม่ชวนให้ดึงดูดแต่กลับไปเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดที่มีอยู่ให้แย่ลงกว่าเดิม บ้านเราทำหนังสือเหมือนเป็นแฟชั่นหลายๆ สำนักพิมพ์ทำออกมาคล้ายกัน และมาขายก็ตัดราคากันเอง และสำนักพิมพ์ก้ไม่กล้าคิดสิ่งใหม่ๆ กลัวขายไม่ออก จะเห็นว่าบ้านเรามีสำนักพิมพ์หนังสือเกิดขึ้นเยอะเลย ส่วนมากจะเน้นสูตรอาหารกับรูปภาพประกอบและพยายามออกหนังสือให้ได้ปริมาณเยอะเข้าไว้ก่อน แต่ฝรั่งเวลาทำงานเขาจะมองวิธีคิดเป็นเรื่องใหญ่ คิดอย่างรอบคอบทำอาหารเป็นสารคดีมีข้อเท็จจริง เป็นประวัติศาสตร์ แล้วก็สไตล์เรื่องการทำหน้าตาอาหารให้สวย ทุกองค์ประกอบที่จะออกมาจึงมีความสวยงามอย่างลงตัวเป็นหนังสือตามมาตรฐานที่สากลเขายอมรับกันนั่นเอง
ภาพประกอบในหนังสือถ่ายเองทั้งหมดผมถ่ายเองเกือบทั้งหมดโดยเฉพาะภาพที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ตลาดสดยามเช้า แต่บางครั้งก็มีช่างภาพมาช่วยกรณีผมต้องเตรียมอาหารเอง และดีไซน์จัดหน้าหนังสือด้วยตัวเองทุกครั้ง นี่คืออานิสงส์จากการคลุกคลีกับผู้มากประสบการณ์ที่เคยทำสิ่งพิมพ์มาก่อน ได้ให้โอกาสเรียนรู้งาน แล้วผมเองก็จะชอบดูนิตยสารจากเมืองนอกบ่อย เอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นมาตรฐานในการทำงาน และการไปท่องเที่ยวเรียนรู้โลกกว้างไปเที่ยวไปตลาดสด ร้านขายเครื่องครัว ทำให้ได้เห็นภาพต่างๆ ได้ไอเดียเพื่อนำมาจัดประกอบลงหนังสือ แม้กระทั่งการที่ผมเป็นคนท้องถิ่น พูดภาษาลาวได้ก็เป็นความโชคดีอีกอย่าง เพราะการส่งภาษาเดียวกันกับคนท้องที่ก็ช่วยให้ผมได้ภาพดี ๆ เช่นกันและถึงแม้ว่าเราจะต่างชาติต่างภาษาแต่ความเป็นสากลก็จะต้องมีเหมือนกันผมเชื่อเช่นนั้น
สำหรับวิธีการทำหนังสือให้ลูกค้านั้น ผมเป็นตัวแปรหลักเลย ผมจะต้องคิดคอนเซ็ปรวมก่อนว่า หนังสือเล่มนี้มันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วก็เอาคอนเซ็ปไปขายให้ลูกค้าดูว่า สิ่งที่กำลังตั้งประโยคคำถามสามาถตอบออกมาเป็นเนื้อหาครอบคลุม ประเด็นธุรกิจครบไหม เนื้อหาจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผม พอเขียนเสร็จ ช่างภาพต้องถ่ายรูปทำสไตล์ภายใต้การมองผ่านเลนส์ของผม เพราะผมจะต้องมองภาพผ่านเลนส์ทุกช้อต เพื่อให้ได้อารมณ์ดั่งที่ต้องการ ผมจะเป็นคนดูแลมุมกล้องด้วยตัวเอง สำหรับกราฟฟิกดีไซเนอร์ผมต้องใช้คนที่มีวิธีคิดในเชิงศิลปะมาร่วมงาน เรื่องรูปภาพ ตัดรูป แปะกระดาษเพื่อทำเลย์เอ้าท์ตั้งแต่หน้าแรกไปจนถึงหน้าสุดท้ายผมต้องลงมือเขียนกำกับเอง เสร็จแล้วส่งมอบเลย์เอาท์ด้วยลายมือให้กราฟฟิกทำ หลังจากนั้นกราฟฟิกจะดูว่าต้องปล่อยสีอะไรลงไป ความลงตัวระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ข้อความกับรูป การปล่อยคำโปรย การเลือกสีที่สัมพันธ์กัน เช่น สีส้มคู่กับฟ้า กราฟฟิกทำงานกับผมง่ายมาก เพราะทุกอย่างถูกวางไว้แล้ว หน้าที่ของเขาคือทำให้ได้อารมณ์อย่างที่ผมต้องการ ผมเห็นช่องแสงปลายทางแล้วแต่ขาดคนมาช่วยเดินเรื่องให้ก้าวไปจนสำเร็จ โดยเฉพาะบอกอที่ให้โอกาสผมได้เต็มที่กับงาน เข้าใจอารมณ์ของนักเขียน ก็ต้องขอขอบคุณพี่วิทยา ร่ำรวย แห่ง สนพ.บ้านพระอาทิตย์ ขอบคุณพี่ประพันธ์ ประภาสะวัต แห่ง สนพ.บ้านและสวน และทีมงานทุกท่านที่มีส่วนช่วยให้หนังสือก้าวมาถึงจุดนี้ได้
ที่ขาบสตูดิโอมีสอนการตกแต่งหน้าตาอาหารไหม
มีครับ ทำอยู่ 2 รูปแบบ คือ 1. เปิดหลักสูตรสอนการเป็นฟู้ดสไตลิสต์ที่ดี สอนระบบการคิดแบบสากลเขาทำกันอย่างไร คนที่เป็นเชฟ คนที่ทำธุรกิจด้านอาหาร คนที่มาเรียนไม่จำเป็นต้องเป็นเชฟเสมอไป เพราะคนมาเรียนกับผมเป็นกราฟฟิกดีไซเนอร์ก็มี คอร์สที่นี่เรียนกัน 4-5 คน เรียนหลักสูตรภาคทฤษฏีเรื่องฟู้ดสไตลิสต์จะทำให้คุณโดดเด่นได้อย่างไร พร้อมกรณีศึกษา 2. เป็นผู้ชำนาญการรับสอนการตกแต่งหน้าตาอาหารในรูปแบบใช้งานได้จริงเน้นออกไปข้างนอกสอนในห้องครัว สอนต่อหน้าเตาและร่วมทำอาหารกับเชฟเน้นภาคปฏิบัติ ยกตัวอย่าง วันนี้ทำ 15 เมนูอาหาร ผมก็จะให้เชฟเลือกทำทีละเมนู แล้วผมก็จะดูที่เขาทำจนเสร็จในครั้งแรก จากนั้นในครั้งที่ 2 ผมก็จะปรับเปลี่ยนหน้าตาให้เขาดู ว่าสวยงามแตกต่างกันอย่างไร และถามถึงความเป็นไปได้ในการใช้งานจริงของเขาด้วย อันนี้คือสิ่งที่ท้าทายผม เพราะผมรู้สึกว่าหน้าตาอาหารในบ้านเรามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นเยอะ หากมีการแก้ไขจะช่วยยกระดับมาตรฐาน และเรื่องของราคาให้กับร้านอาหารได้ และภาพรวมหน้าตาอาหารไทยก็จะดีขึ้นซึ่งทางผมก็ยินดีรับเป็นที่ปรึกษา ขอมีส่วนช่วยสร้างภาพลักษณ์และยกระดับอาหารไทยคอยสนับสนุนภาครัฐบาลและเอกชนให้ประสบความสำเร็จยิ่ง ๆ ขึ้น
หลักๆ ตอนนี้มีบทบาทอะไรบ้างนอกเหนือจากการเป็นฟู้ดสไตลิสต์และนักเขียน
ทางช่อง 3 ผมเป็นพิธีกรรายการทีวีทำอาหารร่วมคู่กับคุณนก ชลิดา เถาว์ชาลี เป็นนักจัดรายการวิทยุ คอลัมนิสต์ให้กับนิตยสารหลายเล่ม วิทยากรบรรยายตามสถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชนต่างๆ งานออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้กับผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ งานออกแบบสิ่งพิมพ์อาหารและรับเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรเอกชนที่ต้องการก้าวสู่สากลด้านสไตล์อย่างแท้จริง สำหรับผู้ที่สนใจสไตล์ของขาบ ไปชมได้ที่ www.karbstyle.com หรือโทรมาขอคำปรึกษาได้ที่ 02-274-7664 ได้ครับ |
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น