“ฟู้ดสไตลิสต์” ปฏิวัติอาหารไทย!


    
'ขาบ' สุทธิพงษ์ สุริยะ ฟู้ดสไตลิสต์ชื่อดัง และกรรมการผู้จัดการบริษัท ขาบสไตล์ จำกัด

อาชีพ “ฟู้ดสไตลิสต์” ในประเทศไทยนั้นถือเป็นอาชีพที่ยังไม่แพร่หลาย สังคมยังไม่รู้จัก และมีคนไทยน้อยคนที่หันมาจับงานทางด้านนี้อย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วอาหารไทยนั้นถือว่าเป็นอาหารที่ถูกจัดอยู่ในชั้นแนวหน้าของโลก ไม่แพ้อาหารฝรั่งเศส อาหารญี่ปุ่น หรืออาหารจีน ประกอบกับที่เมืองไทยนั้นถือเป็นประเทศที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แต่ปัญหาคือแม้สินค้าประเภทอาหารของไทยจะมีคุณภาพเป็นเลิศ แต่ก็ยากที่จะออกไปสู่ตลาดโลกหรือขึ้นสู่ระดับสากล เพราะยังไม่ได้รับการยอมรับเรื่องภาพลักษณ์
       
       ด้วยความที่คลุกคลีกับการทำอาหารมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะที่บ้านทำธุรกิจร้านอาหาร “ขาบ” สุทธิพงษ์ สุริยะ จึงมีความสนใจศาสตร์แขนงนี้เป็นพิเศษ ประกอบกับเป็นคนที่หลงใหลในศิลปะ เมื่อได้รู้จักกับ “ครูโต” หม่อมหลวงจิราธร จิรประวัติ นักวาดภาพชื่อดัง ทำให้ทราบว่ามีงานแขนงหนึ่งที่สามารถนำความรู้ในเรื่องอาหารมาผสานกับไอเดียด้านศิลปะ ซึ่งเรียกว่า “ฟู้ดสไตลิสต์” … ด้วยความพยายามของเขาก็ทำให้วันนี้ใครๆ ก็รู้จัก ‘ขาบ’ สุทธิพงษ์ ในฐานะฟู้ดสไตลิสต์ชื่อดัง และกรรมการผู้จัดการบริษัท ขาบสไตล์ จำกัด
      
       
กล่าวได้ว่า “ขาบ” เป็น “ฟู้ดสไตลิสต์” คนแรกของเมืองไทย แม้จะไม่ได้เรียนจบด้านอาหารมาโดยตรง แต่เขาก็สามารถนำความรู้เรื่องการทำอาหารจากการช่วยงานครัวในร้านอาหารของเม่ ความรู้เรื่องธรรมชาติของวัตถุดิบจากการตามพ่อไปซื้อขายสินค้าเกษตร ความรู้ด้านงานโฆษณาจากการทำงานและการร่ำเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย และการเดินทางไปดูงานดีไซน์ในประเทศต่างๆ มาผสมผสานและสร้างสรรค์ในการออกแบบหน้าตาอาหาร ซึ่งตลอดเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมานั้นเขาได้สั่งสมประสบการณ์ในการสร้างศิลปะบนจานอาหารคาวหวานมามากมาย ทั้งอาหารตะวันออกและตะวันตก ผลงานของเขาถูกนำเสนอในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการนำไอเดียเก๋ไก๋มาสร้างความน่าสนใจให้กับงานอีเวนต์เปิดตัวสินค้าประเภทอาหาร วิทยากรรับเชิญ งานสอนทำอาหาร พิธีกรรายการอาหาร “ฟู้ดเซเลบริตี้ เชฟ ฟู้ดสไตลิสท์” รวมถึงผลงานด้านการเขียนซึ่งมีทั้งเขียนตำราอาหาร บทความ ภาพถ่ายจากการเดินทาง สูตรอาหาร และเป็นฟู้ดคอลัมนิสต์ให้แก่นิตยสารต่างๆ
       
       ให้ “อาหาร” ขายตัวเอง
       
       งานหนึ่งซึ่ง “ขาบ” กำลังมุ่งมั่นและทุ่มเทอย่างเต็มที่ในขณะนี้ก็คือการออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหารและสื่อสิ่งพิมพ์ให้แก่สินค้าประเภทอาหาร เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้สินค้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารของไทยให้ก้าวไปสู่ระดับสากล ซึ่งเขาขยายความให้ฟังว่า ที่เขาสนใจงานด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหารและสื่อสิ่งพิมพ์ของผลิตภัณฑ์อาหารก็เพราะเห็นว่าบรรจุภัณฑ์หรือสื่อสิ่งพิมพ์ที่ออกแบบโดยนักออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริษัทโฆษณานั้นมักไม่จูงใจให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ เนื่องจากไม่สามารถขายตัวตนของอาหาร และไม่สามารถสื่ออารมณ์ของอาหารนั้นๆออกมาได้ เพราะผู้ผลิตงานไม่มีความเข้าใจในธรรมชาติของอาหาร ชิ้นงานที่ออกมาจึงเป็นเพียงบรรจุภัณฑ์หรือสิ่งพิมพ์ที่ “ดูสวย” แต่ “ไร้อารมณ์”
       
       “ตอนนี้งานหลักของผมก็คือการเป็นที่ปรึกษาด้านอาหาร ต้องบอกว่าประเทศไทยมีอาหารอุดมสมบูรณ์มาก มีธุรกิจด้านอาหารอยู่มากมาย แต่ยังขาดคนที่มีความรู้ทั้งด้านอาหาร ด้านการตลาด และการโฆษณา มาช่วยดูแลภาพลักษณ์ของสินค้าและการโฆษณาประสัมพันธ์ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีเงินทุนสูงก็จะจ้างบริษัทเอเจนซี่คิดงานโฆษณาให้ แต่เนื่องจากคนทำงานโฆษณาเขาไม่เข้าใจธรรมชาติของอาหารเพราะเขาไม่โตมาในสายงานด้านนี้ งานที่ออกมาเลยดูกระด้าง ภาพอาจจะออกมาสวย แต่ไม่สามารถสื่ออารมณ์ของอาหารออกมา เขาไม่รู้ว่าจะจัดการอาหารให้สวยและดูน่ากินได้อย่างไร เขาทำเป็นแค่จัดองค์ประกอบภาพแล้วถ่ายออกมาเท่านั้น
       
       ซึ่งต่างจากวิธีคิดของฟู้ดสไตลิสต์ ซึ่งมองว่าเรากำลังจะขายอาหารเพราะฉะนั้นต้องทำให้อาหารออกมาสวยด้วยตัวของมันเอง คือให้อาหารขายตัวมันเอง ไม่ใช่ใส่พร็อพเข้าไปเพื่อให้ภาพถ่ายอาหารออกมาสวย ซึ่งพร็อพสวยๆ จะไปแย่งความสนใจของคนดู แทนที่จะสนใจอาหารกลับไปสนใจพร็อพ หรือเห็นว่าภาพสวยแต่ไม่ได้รู้สึกสนใจอาหาร เราจะดูว่าองค์ประกอบของอาหารคืออะไร และจะขายมันออกมาอย่างไร
       
       ที่ผ่านมาสินค้าที่ถ่ายภาพให้สวยได้ยากที่สุดก็คือผลิตภัณฑ์ที่เป็นน้ำ เช่น เครื่องดื่ม เพราะมันควบคุมรูปทรงได้ยาก ยิ่งเครื่องดื่มที่ต้องใส่น้ำแข็งจะยิ่งยาก เพราะวางไว้นานมันจะละลาย เราก็ต้องวางองค์ประกอบภาพ เตรียมกล้อง จัดแสงจัดไฟให้เรียบร้อย แล้วจึงค่อยเอาแก้วเครื่องดื่มมาวางแล้วถ่ายทันที อีกอย่างผิวหน้าของเครื่องดื่มจะแบน เราก็ต้องสร้างอารมณ์ของภาพด้วยการทำให้เครื่องดื่มนั้นเป็นคลื่นหรือมีฟองขึ้นมา สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เครื่องดื่มดูดีมีรสนิยมก็คือภาชนะที่ดูหรูหรา” ขาบ พูดถึงแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน
       
       ทำอย่างไรให้สินค้าเด่น
       
       ขาบอธิบายต่อว่า งานออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหารนั้นส่วนใหญ่จะมีรูปอาหารโชว์อยู่บนบรรจุภัณฑ์ด้วย ดังนั้นนอกจากจะออกแบบหีบห่อ (Package) แล้วก็ต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบและถ่ายภาพอาหารด้วยเช่นกัน อีกทั้งเมื่อนำสินค้าไปวางบนชั้นวางหรือจุดจำหน่ายสินค้าแล้ว สินค้าต้องมีความโดดเด่น ดูน่าซื้อ ไม่กลืนไปกับสินค้าตัวอื่นๆ บนชั้นวาง ขณะที่การออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ให้แก่สินค้าประเภทอาหารก็ไม่ใช่แค่ทำสื่อสวยๆ ที่พรีเซนต์ความน่ากินของอาหารออกมาเท่านั้น แต่ยังต้องคิดต่อไปว่าหากถ้านำลงโฆษณาตามสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์ นิตยสารหรือป้ายโฆษณาแล้ว โฆษณาชิ้นนี้ต้องมีดูเด่นและน่าสนใจ
       
       “สิ่งหนึ่งที่จะทำให้สินค้าหรือโฆษณาดูโดดเด่นก็คือสี ซึ่งสินค้าหรือโฆษณาแต่ละตัวไม่ควรมีสีสันมากเกินไปเพราะจะทำให้ดูสับสนและเมื่อนำไปวางรวมกับสินค้าหรือโฆษณาตัวอื่นๆ ก็จะกลืนกันไปหมด ดังนั้นที่ถูกต้องคือบรรจุภัณฑ์และชิ้นงานโฆษณาไม่ควรมีสีเกิน 2-3 สี ยกตัวอย่าง หากเป็นสินค้าประเภทอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง เราจะพยายามให้ภาพอาหารซึ่งอยู่บนตัวกล่อง มีสีเด่นๆ แค่ 2-3 สีเท่านั้น เช่น ต้มยำกุ้ง เราก็จะส่งสัญญาณสีส้มกับสีเขียวออกไป โดยเลือกกุ้งตัวโตๆ ที่มีสุกแล้วมีส้มสด สีเขียวของตะไคร้ ใบมะกรูด ผักชี และเลือกใส่ในภาชนะที่มีสีดำเพื่อให้อาหารเด่นออกมา ส่วนฉากก็จะใช้สีดำหมดเพื่อขับอาหารให้ดูเด่น ตัวหนังสือที่ใช้ก็จะเป็นสีส้มบนพื้นสีดำ ภาพที่ออกมาก็ดูนิ่งและมีรสนิยม
       
       สไตล์ของขาบจะไม่เน้นพร็อพ ผมมองว่าความเรียบง่ายคือความสวยที่ยั่งยืน การผสมผสานผักและเนื้อ ที่มีสีต่างกัน เพื่อขับให้จานอาหารดูโดดเด่น หรือการจับคู่อาหารกับจานก็สำคัญ เช่น หากเป็นอาหารสีตุ่นอย่างสีน้ำตาล ก็จะเลือกจับคู่กับจานสีฟ้า เพราะเป็นสีที่ตัดกัน เมื่อถ่ายรูปออกมาก็จะดูสวย ภาชนะที่เลือกใช้จะไม่มีลวดลายกราฟิก เพราะจะทำให้อาหารไม่โดดเด่น การออกแบบแพ็คเกจก็เช่นเดียวกัน ไม่เน้นกราฟิก แต่เน้นรูปอาหาร กราฟิกอื่นๆ ที่เพิ่มเข้าไปบนแพ็คเกจคือตัวเสริมเท่านั้น
       
       ซึ่งเหตุผลที่พยายามใช้สีให้น้อยที่สุดเพราะภาพอาหารที่ออกมานั้นไม่ได้จบอยู่แค่ภาพบนบรรจุภัณฑ์เท่านั้น แต่ภาพนี้ต้องนำไปใช้ในการโฆษณาตามสื่อต่างๆด้วย ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาทางทีวี โฆษณาในนิตยสาร แผ่นป้ายโฆษณา หรือแผ่นพับต่างๆ หากมีสีสันเยอะเวลาไปวางตามที่ต่างๆ สีก็จะกลืนไปกับสินค้าตัวอื่นหรือแผ่นป้ายโฆษณาอื่นๆ แต่ถ้าเลือกสีเด่นๆแค่ 2 สี ภาพก็จะเด่นออกมา นอกจากนั้นต้องไม่ลืมว่านอกจากสีของอาหารแล้วยังมีสีของโลโก้สินค้าซึ่งปรากฏบนภาพโฆษณา หากภาพอาหารมีสีเยอะมันก็จะตีกันไปหมด ซึ่งผู้ประกอบการบางรายก็อาจจะยอมเปลี่ยนสีของโลโก้จากสีเดิมที่เขาใช้อยู่ให้เป็นสีที่เข้ากับภาพของอาหาร ทำให้การทำงานง่ายขึ้น” เจ้าของบริษัท ขาบสไตล์ จำกัด อธิบาย
       
       เทรนด์ของ Lifestyle Marketing
       
       ทั้งนี้ การสร้างสรรค์งานภายใต้บริษัท ขาบสไตล์ จำกัด นั้นจะเป็นการทำงานแบบครบวงจร ตั้งแต่คิดและออกแบบงานจนไปถึงการนำงานออกไปสู่สาธารณะ โดยมีหลักการคิดงานแบบ “ไลฟ์สไตล์มาร์เก็ตติ้ง” ซึ่งทำให้งานที่ออกมาดูมีชีวิตชีวา ไม่จัดฉาก และสามารถทำการตลาดได้ด้วยตัวของสินค้าเอง
       
       “เราเริ่มตั้งแต่คุยกับลูกค้าก่อน ซึ่งนอกจากเราต้องเข้าใจความต้องการของลูกค้าแล้ว ลูกค้าก็ต้องเข้าใจวิธีคิดของเราด้วย คือเรามีแนวคิดว่าต้องการผลักดันในผลิตภัณฑ์ของลูกค้าให้ก้าวไปสู่ระดับสากล เราจึงใช้วิธีคิดแบบสากล ถ้าพูดถึงมุมของภาพก็จะเป็นสไตล์แบบนิตยสารของมาร์ธา สจ๊วต เจ้าแม่ไลฟ์สไตล์ของอเมริกา คือทำให้สินค้าออกมาดูดีมีรสนิยม และที่สำคัญผมยึดหลักว่าสินค้าต้องสามารถขายตัวของมันเองได้ เอาสินค้าไปวางตรงไหนก็ดูโดดเด่น ดูน่าซื้อ เพราะหากตัวสินค้าสวยก็จะดึงดูดลูกค้า ซึ่งการคิดงานแบบไลฟ์สไตล์มาร์เก็ตติ้งนั้นกำลังเป็นที่นิยมในต่างประเทศ แล้วบริษัทเราจะคิดงานแบบครบวงจร อย่างการออกแบบผลิตภัณฑ์ เราไม่ได้คิดแค่เรื่องการออกแบบบรรจุภัณฑ์เท่านั้นแต่เราจะดูด้วยว่าจะทำประชาสัมพันธ์อย่างไรได้บ้าง ถ้าไปเป็นแผ่นป้ายโฆษณา เป็นโบรชัวร์ จะเป็นอย่างไร เราจะทำให้สินค้าเป็นเหมือนแกลอรี่ดิสเพลย์ให้ได้ นำสินค้าไปวางที่ไหนก็สวย ไปทำโฆษณาก็ออกมาสวย ” ขาบกล่าวยิ้มๆ
       
       จากความมุ่งมั่นและทุ่มเทในการทำงานของฟู้ดสลิสต์ผู้นี้ทำให้ผู้ผลิตสินค้าและผู้ประกอบการด้านอาหารจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะใช้บริการจากบริษัท ขาบ สไตล์ ไม่ว่าจะเป็น โอบองแปง คาเฟ่ ดีโอโร่ พรานทะเล โครงการหลวง หรือสินค้าส่งออกชั้นนำ อย่าง แยมชบา และทูน่ากระป๋อง พีบี ฟิชเชอรี่
       
       มุ่งช่วยเหลือเอสเอ็มอี
       
       ขาบ บอกว่า สิ่งที่เขาอยากทำที่สุดในตอนนี้ก็คือช่วยพัฒนาผลิภัณฑ์เอสเอ็มอีไทยให้ก้าวไปสู่ระดับสากล ทั้งในส่วนของภาพลักษณ์ ตัวสินค้าและบรรจุภัณฑ์ เพราะหากเอสเอ็มอีซึ่งเป็นธุรกิจส่วนใหญ่ของประเทศสามารถพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืนก็จะทำให้เศรษฐกิจของไทยแข็งแกร่งขึ้นตามไปด้วย
       
       “ปัจจุบันที่น่าเป็นห่วงคือผู้ประกอบการรายย่อย หรือ เอสเอ็มอี ซึ่งเป็นธุรกิจกลุ่มใหญ่ของประเทศ เพราะกลุ่มนี้ไม่มีเงินทุนที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่หน้าตาสินค้าและแพ็คเกจก็ยังดูเชยๆ ถ้าเขาไปจ้างบริษัทเอเจนซี่มาออกแบบผลิตภัณฑ์จะต้องเสียค่าใช้จ่ายถึงชิ้นละ 50,000 บาท นอกจากนั้นยังต้องเสียค่าดำเนินการที่เรียกว่าค่าฟี (Fee) ด้วย ซึ่งเขาสู้ไม่ไหว ผู้ประกอบการบางรายก็ใช้วิธีจ้างฟรีแลนซ์ซึ่งราคาถูกกว่าเอเจนซี่ แต่ฟรีแลนซ์มักไม่มีความรู้ทั้งด้านการโฆษณาและด้านอาหาร เขาแค่จัดพร็อพและถ่ายรูปเพื่อเอามาแปะบนกล่องสินค้าเท่านั้น สินค้าจึงล้มเหลวในการทำตลาดเพราะมันดูไม่น่าซื้อ ไม่น่ากิน เลยขายไม่ออก หรือขายได้เฉพาะตลาดล่าง ไม่สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้
       
       วิธีหนึ่งที่จะช่วยเอสเอ็มอีได้ก็คือช่วยให้เขาพัฒนาผลิตภัณฑ์บนต้นทุนที่ต่ำที่สุด ถ้าผู้ประกอบการที่เข้ามาหาผมเป็นเอสเอ็มอีผมจะคิดค่าใช้จ่ายในราคาที่ถูกมาก โดยประเมินราคาตามขนาดของธุรกิจ แต่ที่แน่ๆ ต้องถูกกว่าเอเจนซี่ครึ่งหนึ่ง แล้วก็ไม่คิดค่าฟีด้วย เพราะไม่อย่างนั้นเขาทำไม่ได้ ทุนเขาไม่ถึง แล้วผมให้ลูกค้านำภาพที่ใช้ประกอบบนบรรจุภัณฑ์ไปใช้ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ได้เลย ผมไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ภาพ คือผมอยากจะช่วยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เอสเอ็มอีของไทย ถ้าหน้าตาสินค้าสวยและมีความเป็นสากลนอกจากจะดูน่าซื้อแล้ว การจะส่งออกหรือผลักดันสินค้าไปสู้ในตลาดต่างประเทศก็ไม่ใช่เรื่องยาก หากเราเอาไลฟ์สไตล์มาร์เก็ตติ้งซึ่งเป็นสไตล์ที่สากลให้การยอมรับมาใช้กับสินค้าเอสเอ็มอี สินค้าเราก็จะสามารถเข้าถึงลูกค้าต่างชาติได้ง่าย ซึ่งผมมองว่าการที่ช่วยเอสเอ็มอีให้เติบโตก็เท่ากับเราช่วยชาติด้วย ที่สำคัญมันเหมือนกับการช่วยคนที่เขามีความฝันให้เดินไปถึงเป้าหมาย เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งผมก็ได้รับการหยิบยื่นโอกาสจากใครหลายๆคนจนกระทั่งผมมีวันนี้” ขาบกล่าวด้วยแววตาเป็นประกาย
       
       ก้าวสู่ระดับโลก
       
       ปัจจุบัน ฝีมือของขาบนั้นถือว่าก้าวสู่ระดับสากลไปแล้ว โดยงานของเขาถูกนำไปแสดงเป็นครั้งแรกในปี 2548 เมื่อภาพถ่ายวัตถุดิบอาหารไทยและสไตล์ที่เขาออกแบบถูกคัดเลือกนำไปตกแต่งบูธของกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ในเทศกาลงานอาหารโลก Anuga ประเทศเยอรมนี ในนามของประเทศไทย ต่อมา ปี 2549 ขาบได้รับมอบหมายจากกรมส่งเสริมการส่งออก ให้จัดงานดิสเพลย์ตกแต่งอาหารและบรรยากาศไทยร่วมสมัย งานสัมมนาเรื่อง “ครัวไทยสู่ตลาดโลก” ในงานเทศกาลอาหาร THAIFEX นอกจากนี้ขาบยังเป็นวิทยากรรับเชิญให้กับ “โครงการครัวไทยสู่โลก” โครงการที่ภาครัฐบาลร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลิตพ่อครัว แม่ครัว ไปทำงานร้านอาหารไทยในต่างเเดนอีกด้วย
       
       นอกจากนี้ ผลงานด้านสิ่งพิมพ์ของเขาก็ได้รับการการันตีในระดับสากลเช่นกัน โดยในปี 2550 ผลงานตำราอาหารฉบับภาษาอังกฤษ Food and Travel : Laos ของเขา ซึ่งส่งเข้าประกวดชิงรางวัลตำราอาหารโลก “Gourmet World Cookbook Award 2007” ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน ได้ถูกรับคัดเลือกให้เป็นตำราอาหารดีเด่น 1 ใน 26 เล่มของโลก ประเภท Best Foreign Cookery Book และรางวัลดีเด่น 1 ใน 17 เล่มของโลก ประเภท Best Culinary Travel Guide ในปี 2551 สิ่งพิมพ์จากฝีมือฟู้ดสไตล์ลิสต์ชาวไทยผู้นี้ได้รับรางวัลถึง 3 รางวัลด้วยกัน คือ หนังสือคู่มืองานครัว Good Ideas : Kitchen ได้รางวัลเกียรติยศชนะเลิศของโลก ประเภท Special Awards of the Jury : Best in the world และหนังสืออาหาร Prantalay Frozen Seafood ได้รับรางวัลดีเด่น 2 รางวัลพร้อมกัน ได้แก่ ประเภท Best Fish and Seafood Book และประเภท Best Corporate Cookbook
       
       กล่าวได้ว่า ผู้ชายคนนี้ไม่ได้เป็นเพียงผู้ชายธรรมดาที่กล้าฝันเท่านั้น แต่เขาได้ออกเดินตามความฝันของตัวเอง และวันนี้เขาสามารถทำสิ่งที่ฝันให้เป็นจริง อีกทั้งยังไม่ลืมที่จะหันไปมองผู้คนในสังคมซึ่งก็มีความฝันเช่นเดียวกับเขา พร้อมทั้งยืนมือไปฉุดดึงให้ผู้คนเหล่านั้นก้าวไปพร้อมกับความฝันของเขาอีกด้วย
       

       * * * * * * * * * * *
       
       เรื่อง จินดาวรรณ สิ่งคงสิน

ความคิดเห็น